วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ชมหอศิลป์ MOCA BANGKOK


สวัสดีเพื่อนๆทุกคนสำหรับวันนี้เรายังคงอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย MOCA BANGKOK จากครั้งที่แล้วเราได้แนะนำสถานที่ ความเป็นมา การเดินทาง ของที่นี้กันไปพอสมควรแล้ววันนี้ จะพาเพื่อนๆ ชมผลงานที่จัดแสดงในแต่ละชั้น กว่า800ชิ้นงานจากศิลปินที่มีชื่อเสียงทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งบอกได้เลยว่า แต่ละชั้นมีความพิเศษ งดงาม ตรึงตาตรึงใจเป็นอย่างมากเลยเพื่อนๆ  
เรามาเริ่มต้นจากชั้น G กันก่อนเลย
            ชั้น G ประกอบด้วยห้องจัดแสดงนิทรรศการ 4ห้อง ซึ่งจัดเป็นห้องสำหรับนิทรรศการหมุนเวียน 2ห้อง และอีก 2 ห้องเป็นนิทรรศการเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ2ท่าน คือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณชะลูด นิ่มเสมอ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ห้องนี้จัดแสดงทั้งงานประติมากรรมชิ้นเอกของท่านและผลงานจิตรกรรมซึ่งแสดงอัตลักษณ์ของศิลปะไทยร่วมสมัยอันมีรากฐานจากอารยธรรมกว่า 1,000 ปี ส่วนห้องที่2 จัดแสดงผลงานประติมากรรมของ ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ผลงานของท่านได้เปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ของงานประติมากรรมไทยครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์จากแนวอุดมคติสู่รูปแบบสากล โดยมีศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นเบ้าหลอมสำคัญ











เดินชมไปเรื่อยๆ ก็ขึ้นสู่ชั้น 2
            ชั้น 2 จัดแสดงความหลากหลายในปัจเจกภาพทางความคิดของศิลปะไทยร่วมสมัย อาทิ  ผลงานสื่อผสมของ กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรมและสื่อผสม) และผลงานประติมากรรมซึ่งนำเสนอเรื่องราววิถีชีวิตแบบมีสุนทรียภาพของคนไทย โดยเขียน ยิ้มศิริ ในส่วนของห้องนิทรรศการผลงานส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับความเชื่อของคนไทย ค่านิยมในสังคมด้วยบริบทของความร่วมสมัย ได้แก่ผลงานของ ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ, ปรีชา ปั้นกล่ำ, ทวี รัชนีกร, วีรศักดิ์ สัสดี, ลำพู กันเสนาะ รวมถึงงานจิตรกรรมเชิงพุทธปรัชญา โดย พิชัย นิรันดร์, ปัญญา วิจินธนสาร, ปรีชา เถาทอง, เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, สุรสิทธิ์ เสาว์คงและ ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ








เข้าสู่ชั้น 3 อย่างเพลินๆ เหมือนหลุดไปในอีกโลกหนึ่ง
            ในส่วนของชั้น 3 เน้นศิลปะเชิงความคิดฝันและจินตนาการภายใต้คติความเชื่อของคนไทย โดยสมภพ บุตราช, ช่วง มูลพินิจ, เริงศักดิ์ บุณยวาณิชย์กุล, สุภร พรินทรากุล, สมพง อดุลย์สารพันธ์, ประทีป คชบัว, นอกจากนี้ยังมีเรือนไทยไม้สักซึ่งจัดแสดงงานจิตรกรรมสองยุคสมัย ที่เล่าเรื่องราวของ นางพิมพิลาไลย สตรีจากวรรณกรรมไทย ที่ถูกกล่าวขานใน 2 บริบท ผ่านเรื่อง ขุนช้าง-ขุนแผนใน 2 รูปแบบที่แตกต่างกันโดย เหม เวชกร และสุขี สมเงิน








มาต่อกันด้วยชั้น 4 กันเลยดีกว่า
            ชั้นที่เป็นชั้นที่เราชอบมากที่สุดเพราะเราชื่นชอบในผลงานของ ถวัลย์ ดัชนี มาก และก็ไม่ผิดหวังเลยจริงๆ เพราะชั้นนี้จัดแสดงงานที่ถือว่าเป็นสุดยอดแห่งมหากาพย์ของจิตรกรรมไทยร่วมสมัย โดยประกอบด้วยงานทุกประเภทของ ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปราชญ์ ผู้เป็นตำนานแห่งวงการศิลปะไทยร่วมสมัย ทั้งสุดยอดแห่งผลงานวาดเส้น และผลงานที่แสดงออกถึงพลังความเคลื่อนไหวของอารมณ์ด้วยฝีแปรง นอกจากนี้ยังรวบรวมผลงานของศิลปินแห่งชาติและศิลปินชั้นเยี่ยมซึ่งหาชมได้ยากมาก อย่าง ทวี นันทขว้าง, เฟื้อ หิรพิทักษ์, จักรพันธุ์ โปษยกฤต, ประกิต บัวบุศย์ และ อังคาร กัลยาณพงษ์  อีกฝากของอาคารเมื่อเดินทะลุสะพานข้ามจักรวาล ก็ได้พบกับผลงานจิตรกรรมสูง7 เมตรจำนวน 3 ภาพในชุดนี้มีชื่อว่า ไตรภูมิ บอกเล่าการเวียนว่ายตายเกิดของสรรพสัตว์ในสังสารวัฏตามความเชื่อในทางพระพุทธศาสนา โดย สมภพ บุตราช, ปัญญา วิจินธนสาร และ ประทีป คชบัว







และชั้นสุดท้าย ชั้น 5 ชั้นนี้ส่วนใหญ่ห้ามถ่ายภาพเพราะมีภาพลิขสิทธิ์จัดแสดงอยู่                          งานศิลปะร่วมสมัยในชั้นนี้รวมรวมมาจากหลายประเทศ เช่น จีน, เวียดนาม, มาเลเซีย,    อิตาลี, ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา, รัสเซีย, ออสเตรเลีย, นอร์เวย์, และห้องที่โดดเด่นที่สุดคือห้องที่เราได้กล่าวถึงว่าห้ามถ่ายรูปนั้นเอง คือห้อง Richard Green ซึ่งจำลองห้องนิทรรศการจากพิพิธภัณฑ์ในแถบยุโรปที่มีหลังคากระจกโค้งรับแสงธรรมชาติ โดยจัดแสดงผลงานจิตรกรรมจากศิลปินยุโรปฝีมืออันดับต้นๆ ในยุคพระนางเจ้าวิคตอเรียซึ่งตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่5 เช่น Sir Lawrence, Alma Tadema และ John William Godward ผลงานทุกชิ้นถูกดูแลรักษาอย่างดี ผลงานบางชิ้นมีอายุเกือบ 300 ปี เลอค่าจริงๆเพื่อนๆ







ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น อยากให้เพื่อนๆลองหาเวลาว่างลองแวะมาเยี่ยมชม สำหรับผู้ที่รักและหลงใหลในงานศิลปะแล้วที่แห่งนี้อาจมีคำตอบอะไรบางอย่างให้กับคุณ แล้วพบกันใหม่ ในโอกาสหน้าจะมีเรื่องราวศิลปะในรูปแบบไหนมาแชร์ให้เพื่อนๆชมและศึกษา ติดตามกันได้ในหน้า ศิลป์ ศิลปะ นี้ได้นะคับ....สวัสดี


ปล.เรามีวิดีโอบรรยากาศมาให้ชมกันด้วยคับ
http://www.youtube.com/watch?v=hbPeFbw--s8

  สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
ศิลป์-ศิลปะ โดย Nattinun Boonreang อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย.
อยู่บนพื้นฐานของงานที่ http://5107896-art.blogspot.com/2013/08/normal-0-false-false-false-en-us-ja-th.html.
การอนุญาตนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในสัญญาอนุญาตนี้ อาจมีอยู่ที่ http://5107896-art.blogspot.com/2013/08/normal-0-false-false-false-en-us-ja-th.html

พิพิธภัณฑ์ ศิลปะไทยร่วมสมัย Moca Bangkok


พิพิธภัณฑ์ ศิลปะไทยร่วมสมัย Moca Bangkok

สวัสดีเพื่อนๆมาพบกันอีกครั้งกับการนำเสนอเรื่องราวทางศิลปะในรูปแบบต่างๆวันนี้จะเป็นการแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวทางศิลปะในประเทศไทยที่น่าสนใจวันนี้จะพาไปชมสถานที่รวบรวมศิลปะร่วมสมัยของศิลปินไทยที่งดงามและล้ำค่า สถานที่แห่งนั้นก็คือ"พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย หรือ MOCA(Museum Of Contemporary Art) ซึ่งเป็นที่เก็บสะสมชิ้นงานที่มีค่ายิ่งของ"คุณบุญชัย เบญจรงคกุล"






วิสัยทัศน์ของ"คุณบุญชัย เบญจรงคกุล" ที่ก่อตั้ง MOCA ขึ้นมาเพื่อเป็นรากฐานอันมั่นคงและช่วยส่งเสริมให้ "สังคมศิลปะ" ในประเทศไทยเจริญงอกงามในทุกแขนง

                   




แม้คุณบุญชัย เบญจรงคกุล จะเป็นนักธุรกิจอยู่ในสายอุตสาหกรรม โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสื่อสาร แต่ด้วยหัวใจรักในงานศิลปะ และได้ตั้งปฎิธานอันแรงกล้าที่จะสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยสมบัติอันล้ำค่า ของแผ่นดินเพื่อคงไว้ให้อนุชนรุ่นหลัง จึงได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยชั่วคราว ณ ตึกเบญจจินดา ๑ เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๓ จากวันนั้นเป็นต้นมา โครงการสร้างพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทย
ร่วมสมัยจึงได้ดำเนินเรื่อยมาจนแล้วเสร็จ ในวันที่ 23 มีนาคม 2555 เวลา 09.00 นาฬิกา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีงานเปิดตึก และนิทรรศการพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัยอย่างเป็นทางการและพร้อมเปิดให้ นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจเข้าเข้าดื่มด่ำสุนทรียภาพทางศิลปะอันเป็นเครื่อง แสดงถึงความมีอารยะของประเทศไทย 


"พันธกิจ" พิพิธภัณฑ์ ศิลปะไทยร่วมสมัย Moca Bangkok

1.เพื่อให้ศิลปะและวัฒนธรรมไทยดำรงอยู่คู่แผ่นดินไทย
2.เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสชื่นชมผลงานทางศิลปะที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของศิลปินไทย
3.เพื่อปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนไทยรักในงานวัฒนธรรมของตน
4.เพื่อเผยแพร่ผลงานศิลปะไทยสู่สาธาณชนและอารยะประเทศ
5.ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สร่างสรรค์งานศิลปะได้มีโอกาสแสดงแนวคิดของตนสู่สาธารณชน
6.เพื่อให้เยาวชนและผู้สนใจได้ศึกษาและเรียนรู้รูปแบบการสร้างสรรค์ กลวิธีที่หลากหลาย แรงบันดาลใจของศิอลปินแต่ละท่าน







เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป งานศิลปกรรมก็มีการปรับเปลี่ยนตามไปด้วยและบุคคลหนึ่งซึ่งมีบทบาทอย่างยิ่งในการเปลี่ยนแปลงรูปโฉมศิลปกรรมในประเทศไทย คือ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ประติมากรชาวอิตาเลียน ผู้วางหลักสูตรจิตรกรรมและประติมากรรมที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ซึ่งได้ยกระดับการศึกษาเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรในเวลาต่อมา
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้นำหลักปรัชญาที่ว่า ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น มาเผยแพร่ พร้อมกับหลักวิชา Academic Art ให้ลูกศิษย์ได้ศึกษาเรียนรู้และเพิ่มพูนทักษะทางศิลปะให้ทัดเทียมนานาอารยะประเทศจนได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งศิลปะไทยร่วมสมัย” 
 งานศิลปกรรมของศิลปินที่ได้รับอิทธิพลจากสิ่งที่ท่านศาสตราจารย์ศิลป์ได้วางรากฐานไว้ จึงเป็นผลงานที่ผสานความเชื่อ ความศรัทธาแบบดั้งเดิม เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยไว้อย่างลงตัว เปรียบดังกระจกบานใหญ่ที่สะท้อนทั้งความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมของคนในชาติพุทธิปัญญาและความเป็นอารยะของชนชาติไทย

ประวัติอันยาวนานและน่าสนใจของศิลปกรรมไทยทั้งหมดได้รับการรวบรวมไว้แล้ว ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย ที่ซึ่งเกิดจาก ความหลงใหลในงานศิลปะของคุณบุญชัย เบญจรงคกุล แต่เหตุผลหลักที่ทำให้คุณบุญชัย  เปิดพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัยอย่างเป็นทางการ คือ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเพื่อเชิดชูเกียรติของ บิดาแห่งศิลปะไทยร่วมสมัยหรือ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัยได้แนวความคิดมาจากการนำหินทั้งก้อนมาแกะสลักอย่างประณีตบรรจงเป็นลายก้านมะลิ อันแสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย ในขณะเดียวกันลายฉลุเหล่านี้ นอกจากจะทำให้แสงธรรมชาติสามารถส่องลงมาในอาคารได้แล้ว แสงที่ส่องลงมาในช่วงเวลาและฤดูกาลที่แตกต่างกันยังให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันไปด้วย






ข้อปฏิบัติในการเข้าชมพิพิธภัณฑ์

-แต่งกายสุภาพ
-ผู้เข้าชมจะต้องผ่านการตรวจค้นกระเป๋าทางด้านหน้าของตัวอาคารก่อนเข้าไปในอาคารฯ กระเป๋าที่มีขนาดใหญ่จะต้องทำการฝากไว้ที่จุดขายตั๋วก่อนหรือหลังซื้อตั๋ว ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ กระเป๋าที่สามารถนำเข้าไปได้คือกระเป๋าเงิน กระเป๋าสะพายด้านข้าง หรือกระเป๋าถือที่จะต้องได้รับการตรวจค้น
-ห้ามมิให้จับต้องผลงานทางศิลปะใดๆ ที่แสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์
-ห้ามบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มยกเว้นบริเวณร้าน Café du Musée เท่านั้น





 -ห้ามสูบบุหรี่ในอาคารพิพิธภัณฑ์ฯแต่สามารถสูบได้ในบริเวณที่ทางพิพิธภัณฑ์ฯจัดไว้ให้เท่านั้น
 -ห้ามนำสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์เข้าไปในพิพิธภัณฑ์ฯ

- ห้ามเข้าไปในพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ฯ นอกจากพื้นที่ที่กำหนดให้ผู้เข้าชมเข้าไปได้

 -ห้ามนำสารเคมีไวไฟวัตถุระเบิด อาวุธเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ฯ

- ห้ามส่งเสียงดังโดยไม่จำเป็น (ไม่ว่าจากโทรศัพท์มือถือหรือเครื่องเสียงส่วนตัว หรือสิ่งอื่น) หรือมีพฤติกรรมที่อาจรบกวนหรือสร้างความไม่พอใจแก่ผู้เข้าชมอื่นๆ หรือข่มขู่คุกคามเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ฯ

 -ห้ามนำปากกาทุกชนิด หรือวัสดุใดๆที่สามารถขีดเขียนได้เข้าไปใน พิพิธภัณฑ์ฯโดยเด็ดขาด ยกเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ของทางพิพิธภัณฑ์ฯเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น
ความปลอดภัย

- ผู้เข้าชมจะต้องเก็บรักษาทรัพย์สินมีค่าส่วนตัวไว้กับตนเองตลอดเวลา พิพิธภัณฑ์ฯจะไม่ขอรับผิดชอบในความสูญหาย การโจรกรรม หรือความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพย์สินส่วนตัวใดที่นำเข้ามาในพิพิธภัณฑ์ฯ

-การถ่ายภาพ

- ทางพิพิธภัณฑ์ฯสนับสนุนให้ผู้เข้าชมสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ฯได้อย่างเต็มที่ โดยห้ามใช้แฟลชในการถ่ายงานศิลปะใดๆ และในทุกห้องที่จัดแสดงงาน และ ภาพที่ทำการถ่ายนั้นจะต้องไม่ถูกนำไปทำซ้ำ ขาย หรือทำการใดๆที่มีจุดประสงค์เพื่อหวังกำไร สำหรับสื่อมวลชนและการถ่ายภาพ ถ่ายทำรายการ หรือเพื่อจุดประสงค์อื่นๆ กรุณาติดต่อสอบถามได้ทางโทรศัพท์ 02 953 1005-7 หรือ info@mocabangkok.com




สถานที่ตั้งของ"พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย" หรือ MOCA(Museum Of Contemporary Art) เลขที่ 499/50 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทรศัพท์ 02 953 1005-7 โทรสาร 02 953 1008
อีเมลล์ info@mocabangkok.com  www.mocabangkok.com 

              
วันและเวลาทำการพิพิธภัณฑ์
วันอังคาร วันอาทิตย์ เวลา 10.00-18.00 น. (หยุดทำการวันจันทร์)                                                  อัตราค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์ (อัตราค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์นี้เป็นราคาสำหรับนิทรรศการถาวรเท่านั้น ไม่รวมถึงนิทรรศการหมุนเวียน หรือ นิทรรศการพิเศษ)                                                                                         -ผู้ใหญ่ 180 บาท                                                                                                                                 -นักเรียน/นักศึกษา (โปรดแสดงบัตร) *ให้สิทธิ์ถึงนักศึกษาปริญญาตรีเท่านั้น *สำหรับผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป 80 บาท                                                                                                                                     -เด็กที่อายุไม่เกิน 15 ปี ต้องมากับผู้ปกครองเท่านั้น ไม่เสียค่าเข้าชม                                                        -พระภิกษุ/ สามเณร/ ผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป (โปรดแสดงบัตร) ไม่เสียค่าเข้าชม                                           -ผู้พิการทุพพลภาพ ไม่เสียค่าเข้าชม  
อัตราค่าเข้าชมพิเศษ                                                                                                                             -ครอบครัว ผู้ใหญ่ 1 + นักเรียน นักศึกษา 1 คน 180 บาท   ผู้ใหญ่ 2 + นักเรียน นักศึกษาไม่เกิน 3 คน 360 บาท