วันพุธที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2556

ศิลปะกับชีวิตและธรรมชาติ.....

  ศิลปะกับชีวิตและธรรมชาติ



หนังสือที่คนรักศิลปะควรอ่าน....          
 
          
           สวัสดีเพืี่อนๆทุกคนวันนี้ ก็มาพบกันอีกครั้ง คราวนี้ไม่ได้ไปเยี่ยมชมหอศิลป์ที่ไหน แต่จะบอกเล่าความประทับใจ เรื่องราวดีๆของหนังสือเล่มหนึ่ง ที่บังเอิญได้รู้จักกับเพื่อนที่เขาเรียนด้านศิลปะ เขาถือหนังสือเล่มนี้ไปไหนมาไหนอยู่บ่อยๆ เลยสงสัยว่ามันเป็นหนังสืออะไร ? 
            เพื่อนเราเล่าว่า ได้รู้จักหนังสือเล่มนี้จากอาจารย์ ที่สอนวิชาศิลปะกับชีวิต ที่มหาลัยที่มันเรียนอยู่ ลืมบอกไป? เพื่อนเรามันเรียนด้านศิลปะ สาขา จิตรกรรม.....เพื่อนเราก็เลยให้มาลองอ่านดู ด้วยประโยค ทิ้งท้ายให้ชวนอยากอ่านว่า "หนังสือเล่มนี้จะทำให้มึงเข้าใจโลกศิลปะและตัวมึงมากขึ้น"
           หนังสือเล่มนี้มีชื่ิอว่า "การเดินทางในจิตใจ" บทตริตรองชีวิตและธรรมชาติ เขียนโดย ธีรยุทธ บุญมี  จากสำนักพิมพ์ สายธาร

    

 ศาสตราจารย์ ธีรยุทธ บุญมี 
(เกิด 10 มกราคม พ.ศ. 2493) เป็นนักวิชาการ นักวิจารณ์การเมือง และนักเขียนรางวัลศรีบูรพา อดีตเลขาธิการ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา เคยเป็นอาจารย์ประจำ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ สาขามานุษยวิทยา ในปี พ.ศ. 2555.  ผู้มีชื่ออยู่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย อีกทั้งท่านยังเป็นผู้มีศิลปะในหัวใจอีกด้วย
   
 


ในหนังสือประกอบด้วยเรื่องราว และภาพประกอบที่ อาจารย์ ธีรยุทธ บุญมี เป็นทั้งผู้เรียบเรียงเนื้อเรื่องและภาพประกอบทั้งหมดเราอยากนำเสนอบางตอนในบางบทให้ทุกคนได้อ่านโดยเราเลือกวลีที่เราประทับใจมานำเสนอ ...


"... ต้นไม้จะบอกกับเราว่า เมื่ออยู่สูงแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องทำตัวให้สูงตาม เพราะภาระที่สำคัญคือ การยืนต้านเม็ดฝนและลมแรง ..."
(ไม้ยืนต้น, หน้า 9)

"... การเดินทางของชีวิตเช่นเดียวกับการเดินทางบนภูเขา ช่วงก่อนถึงจุดหมายปลายทางมีคนไม่น้อยที่มักหวั่นไหว พวกเขากลัวทางแยก วิตกกับความมืดหวาดผวากับสิ่งไม่รู้จัก และกลัวเกรงกับการผิดพลาด
แต่คนเดินบนภูเขารู้ดีว่า ความอ่อนแอเป็นพี่ชายคนโตของความหวาดกลัว โดยมีความล้มเหลวเป็นน้องคนสุดท้อง ..."
(ทางบนภูเขา, หน้า 16)

"... ที่ว่างเวิ้งว้างช่วยให้เราเข้าใจความคับแคบสับสนของชีวิต ขณะที่ความนิ่งสงบไร้ชีวิตกลับทำให้สมเพชความผันแปรอันไร้จุดหมายของมนุษย์ ..."
(ความว่างเปล่ากับชีวิตบนทุ่งหญ้าทัสส็อค, หน้า 24)

"... ความคิดของมนุษย์ไม่สอดคล้องเป็นจังหวะเดียวกับธรรมชาติได้นาน เวลาที่เราได้พักอยู่กับธรรมชาตินาน ๆ เรามักอดไม่ได้ที่จะเอาความปรารถนาของเราไปใส่ให้กับธรรมชาติ ..."
"... สิ่งที่มนุษย์ต้องการอย่างแท้จริงก็คือ ความเงียบ ความนิ่ง ความอบอุ่นในใจ
บนภูเขา หมอกที่นิ่งสงบไม่ไหวติง มักมีเพียงชั่วครู่เท่านั้น สักพักมันจะพลุ่งพล่าน แล้วลมจะพัดแรงหรือไม่ก็มีฝนตก
ปราชญ์ตะวันออกจะจึงย้ำเสมอว่า เมื่อมีความนิ่งย่อมมีความเคลื่อนไหวตามมา
เมื่อมีทุกข์มีสุขก็ย่อมตามมาด้วยความเปลี่ยนแปร นี่เป็นกฎเกณฑ์ทั่วไปของชีวิต ..."
(ความสงบในลมหนาว, หน้า 36 - 37)

"... วัฒนธรรมไทยให้ความสำคัญกับจิตใจ เราใช้คำว่า "เข้าใจ" แทนความตระหนักรู้ มีคำว่า "ประทับใจ" "วัดกันด้วยใจ" จนอาจกล่าวได้ว่า พฤติกรรมการงานทั้งสิ้นทั้งปวงของคนไทย ถ้าทำไปด้วย "ใจบริสุทธิ์" ก็ถือเป็นสิ่งดีงามทั้งหมด ..."
"... วัฒนธรรมตะวันตกโน้มเอียงไปให้ความสำคัญกับการมองและแสงสว่าง ถ้าจะเรียกพวกเขาว่าเป็น วัฒนธรรมแห่งแสงสว่าง (light culture) ก็คงไม่ผิด พวกเขาใช้คำว่า "I see" แทนความหมายว่าเข้าใจ คำว่า "vision" และ "insight" (ที่อยู่ในสายตา) แทนการหยั่งรู้และการมองการณ์ไกล ด้วยเหตุนี้ ศิลปะของพวกเขาจึงเน้นไปที่ภาพวาดกับลวดลายและรูปทรงที่งดงาม ..."
"... คนเยอรมันอาจต่างไปจากคนตะวันตกทั่วไป คำว่า understanding ของคนเยอรมันไม่ใช่ทั้ง "เข้าใจ" หรือ "ฉันเห็น" แต่เป็น verstehen ซึ่งมีรากศัพท์มาจาก "การตั้งใจฟัง" ..."
"... แต่ผม (อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี) ก็อดตั้งคำถามกับตัวเองไม่ได้ว่า การเข้าถึงความจริงสูงสุด ไม่ว่าจะมีพื้นฐานมาจากจิตใจอันละเอียดอ่อน สายตาที่แจ่มชัด หรือสุนทรีย์อันสูงส่งในการเข้าถึงดนตรีและกาพย์กลอน จะมีความหมายอะไรหรือ ถ้ามันไม่ผูกพันกับชีวิต ..."
(สวนหินในเกียวโต, หน้า 49 - 50)

"... ฝนผลักไสให้คุณฝังตัวเข้าไปในอดีต
และฝนมักทำให้คุณเสียใจกับความผิดพลาดของวันวาน ..."

"... ทำไมมนุษย์มักหวนกลับไปหาความเศร้าสร้อยเมื่อเวลาฝนตก
อาจเป็นเพราะทั้งแผ่นฟ้าได้เปลี่ยนเป็นสีเทาหม่น 
(สีเทามักทำให้เราเศร้าเสมอ?) ..."
(ฝนกับความหลัง, หน้า 71)
 


          เราจะบอกเพื่อนๆว่าเราหลงรักหนังสือเล่มนี้เข้าเสียแล้ว เข้าใจแล้วว่าทำไมเพื่อนเราที่เรียนด้านศิลปะ ถึงรักหนังสือเล่มนี้

          การอ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้ เราเริ่มตั้งคำถามกับตัวเอง?
          ชีวิตของเรากำลังค้นหาความหมายอะไรบางอย่างอยู่หรือเปล่า?
          เรากำลังตกอยู่ในอารมณ์และภวังค์ของความเหงาหรือเราต้องเพียงชีวิตที่สุขสงบ ไม่ต้องสู้รบกับใคร อยู่กับตัวเองคนเดียวให้นิ่งและเงียบที่สุด
เราหลงรักการเดินทางที่ใช้ความคิด เมื่อเดินทางแล้วจะได้คิด ตริตรอง มองเห็นถึงสิ่งที่รอบ ๆ ตัวเรา ที่เราไม่สามารถควบคุมมันได้ หรือเรากำลังค้นหาอะไรบางอย่างเพื่อมาเยียวยาใจของตัวเองในหลาย ๆ ความรู้สึกที่เกิดขึ้น หรือนั่นคือสิ่งที่เราต้องการ การเดินทาง การเห็นโลกใหม่ การใช้ความคิด การอยู่ในที่สงบ ๆ นิ่ง และ เย็น เหมือนโลกส่วนตัวของตัวเองสูง ขัดแย้งกับชีวิตที่ดูวุ่นวาย อย่างไรนั้น หนังสือเล่มนี้ 
"การเดินทางในจิตใจ" บทตริตรองชีวิตและธรรมชาติ เล่มนี้ ทำให้เราค้นพบความรู้ของชีวิตที่อิงอยู่กับธรรมชาติ เพียงแต่ได้มีโอกาสสังเกตุ คิด และตริตรองอย่างลึกซึ้ง เราจะพบว่า ธรรมชาติคือครูของเรา ธรรมชาติสอนให้มนุษย์อย่างเรารู้ว่า สิ่งใดคือความเป็นจริง สิ่งใดคือสิ่งสมมติที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นในจิตใจจงอย่าได้พยายามเอาชนะธรรมชาติเลย แต่จงเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติดีกว่า....

บรรณานุกรม

ธีรยุทธ บุญมี.  การเดินทางในจิตใจ : บทตริตรองชีวิตและธรรมชาติ.  กรุงเทพฯ: สายธาร, 2550.


สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์



ศิลป์-ศิลปะ โดย Nattinun Boonreang อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย.

อยู่บนพื้นฐานของงานที่ http://5107896-art.blogspot.com/2013/08/normal-0-false-false-false-en-us-ja-th.html.
การอนุญาตนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในสัญญาอนุญาตนี้ อาจมีอยู่ที่ http://5107896-art.blogspot.com/2013/08/normal-0-false-false-false-en-us-ja-th.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น