ศิลปะบำบัด
สวัสดีเพื่อนๆทุกคนมาพบกันอีกครั้ง คราวนี้จะมาบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปะ อีกแขนงหนึ่ง ที่เรากำลังสนใจมากๆในขณะนี้ ก่อนอื่นบอกก่อนเลยว่าที่บ้านของเรานั้นเปิดสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือที่เรียกกันว่า (เนอร์สเซอรี่) Nursery มีเด็กจำนวนนึงมีความผิดปกติเรื่องพัฒนาการ หรือที่เรียกว่าสมาธิสั้น นี่คือที่มาที่ทำให้เราได้รู้จักกับศิลปะแขนงนี้
ตอนนี้เรากำลังทำการศึกษาเรื่อง "ศิลปะบำบัด" เพราะเราเริ่มเห็นพัฒนากาคที่ดีขึ้นของน้องใบบัวอายุ 4 ปี หนึ่งในกลุ่มเด็กสมาธิสั้น ศิลปะบำบัดช่วยให้น้องๆเด็กๆที่เนอร์สเซอรี่ ให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น ก่อนหน้านี้น้องใบบัว ไม่สามารถร่วมกิจกรรมกับเพื่อนๆได้ ร้องให้งอแง ตลอดเวลา
จริงๆแล้วที่เนอร์สรี่ของเรานั้นไม่มีพี่เลี้ยงหรือเจ้าหน้าที่จบด้านนักศิลปะบำบัดมานะ แต่เพื่อนเราที่จบด้านศิลปะมาเป็นคนแนะนำให้เอาศิลปะมาบำบัดน้องกลุ่มนี้ดู และ เพื่อนเราก็อาสามาเป็น ครูสอน ศิลปะบำบัด ให้ที่เนอร์สเซอรี่ เป็นการทดลองสอนดู เพราะเพื่อนเรามันจะไปเรียนต่อ ด้าน ศิลปะบำบัด โดยตรง
น้องใบบัวกับเพื่อนของเราที่เป็นครูอาสาช่วยบำบัด
ผลงานน้องใบบัว อายุ 4 ปี
ทำกิจกรรมเสริมสร้างจินตนาการกับน้องๆ
กิจกรรมเสริมสร้างจินตนาการและพัฒนากล้ามเนื้อในน้องๆ 2-3 ปี
พูดเรื่องน้องๆในความดูแลที่เนอร์สเซอรี่เรามาก็เยอะแล้วมาทำความรู้จักศิลปะบำบัดจากนักวิชาการกันบ้างดีกว่า......
ก่อนอื่นเราอยากจะพูดถึงข้อมูลความเป็นมาของ ศาสตร์ ว่าด้วยเรื่อง "ศิลปะบำบัด" โดยเราขออนุญาตอ้างอิง บทความจาก อาจารย์ อนุพันธ์ุ พฤกษ์พันธ์ขจี ท่านเป็นทั้งจิตรกร และ นักศิลปะบำบัด ที่มีชื่อเสียง และ ยังเป็นศิลปินที่เราชื่นชอบอีกด้วย.....
//
//
//....เริ่มกันเลย....
ศิลปะบำบัด : ความเข้าใจที่ถ่องแท้ สู่การเยียวยาที่แท้จริง
โดย อาจารย์อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี
จิตรกรและนักศิลปะบำบัด โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์
“ศิลปะบำบัด” ถูกหยิบยกเป็นหัวข้อทางวิชาการในวงการแพทย์ การศึกษา ตลอดจนการบำบัดเยียวยา ต่อเนื่องกันตลอดสามสี่ปีที่ผ่านมา งานวิชาการศิลปะบำบัด โดยเฉพาะกระแสหลัก (Mainstream) ที่กล่าวขานกันอยู่ในทุกวันนี้ ก็เป็นเพียงแค่การอธิบายศิลปะบำบัดบนพื้นฐานของจิตวิทยา และบางครั้งก็ถูกเชื่อมโยงจากมุมมอง
วิทยาศาสตร์ จิตวิเคราะห์ หรือแม้แต่การแพทย์เองก็ตาม
หากทว่า บทความนี้จะขอนำเสนอศิลปะบำบัดบนพื้นฐานศาสตร์แห่งจิตวิญญาณ (Anthroposophy : Spiritual Science) ที่อธิบายศิลปะบำบัดบนความรู้ที่เป็นองค์รวมของ ศิลปะ การแพทย์ การบำบัด การศึกษา ความเข้าใจ
การหยั่งรู้ในความเป็นมาของมนุษย์ รวมถึง จิตวิญญาณ ที่หลอมรวมศาสตร์เป็นหนึ่งเดียว
ลองย้อนกลับไปมองเมื่อหนึ่งร้อยปีที่แล้ว (พ.ศ. 2450 – 2467 : ค.ศ. 1907 – 1924) ยุคนั้นเป็นยุคทองของศาสตร์ทางจิตวิทยา และนักคิดทางจิตวิทยาหลายคนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วยุโรป แต่ขณะเดียวกันยังมีอีกบุคคลหนึ่งที่มีความคิดก้าวล้ำและไม่ได้มองจิตมนุษย์ในเชิงวิทยาศาสตร์ แนวความคิดในเชิงอภิปรัชญา (Anthroposophy) ของเขาค่อยปรากฏขึ้นในยุโรป และแผ่กว้างไปในอเมริกา เอเชีย ความเข้าใจมนุษย์ทั้งจากร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ ส่งผลให้ชื่อเสียงของนักปรัชญา-นักฟิสิกส์ นามอุโฆษ ดร. รูดอล์ฟ สไตเนอร์ (Dr. Rudolf Steiner : ค.ศ. 1861 – 1925)เป็นที่ปรากฏขึ้นในโลก อาจมีคำถามว่า แล้วศิลปะบำบัดเกี่ยวข้องอย่างไรกับปรัชญาที่ว่านี้เล่า อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า สไตเนอร์เป็นนักคิด-นักปรัชญา ที่ไม่ได้แยกศาสตร์ต่าง ๆ ออกเป็นส่วนๆ สไตเนอร์กล่าวถึงความสัมพันธ์ของศิลปะกับจิตวิญญาณของมนุษย์ พูดถึงสีที่มีผลต่อสภาพจิตใจ (See and Sense) โดยเฉพาะเรื่องสีนั้น สไตเนอร์ค้นคว้าทางวิชาการและเป็นผู้เรียบเรียงผลงานทฤษฎีสีของเกอเธ่ (Goethe, Colour Theory) อีกทั้ง สไตเนอร์ยังได้เชื่อมโยงองค์ความรู้ ทั้งการ แพทย์องค์รวม การพัฒนาการของเด็ก การศึกษาที่มีชีวิต การบำบัด ฯลฯ ให้เป็นหนึ่งเดียว
ดังนี้แล้ว ศิลปะบำบัดในมุมมองของมนุษยปรัชญา จึงอรรถาธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ด้วยตัวของมัน ทั้งยังก้าวล้ำไปอย่างลึกซึ้งในเรื่องสีบำบัด (Colour Therapy) ซึ่งบรรดาลูกศิษย์และเพื่อนร่วมงานของสไตเนอร์ที่มีส่วนช่วยให้ศิลปะบำบัดชัดเจนขึ้น ก็คือ แพทย์หญิงที่มีชื่อว่า อีธา เวกมันน์ (Dr. med. Ita Wegmann) คลินิกของเธอรวมทั้งห้องบำบัดอยู่ในเมือง Arlesheim ใกล้กรุงบาเซิล (Basel) สวิตเซอร์แลนด์ ราว ค.ศ. 1921 นี่คือจุดเริ่มต้นของศิลปะบำบัด
ในยุโรปเช่นกัน
...ศิลปะกับมนุษย์
แนวความคิดมนุษยปรัชญา เชื่อว่า ศิลปะมีสัมพันธ์แนบแน่นกับดวงจิตมนุษย์มาอย่างช้านาน ในสมัยโบราณศิลปะหลอมรวมกับศาสนาอย่างแน่นแฟ้น ศิลปะเป็นดั่งสายรุ้งเชื่อมโยงมนุษย์กับโลกเบื้องบน (โลกแห่งจิตวิญญาณ) ถ้าเราได้มีโอกาสศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะ ก็จะพบว่า ศิลปินยุคสมัยหนึ่ง (ก่อนยุคเรอนาซอง – Renaissance) ทำงานอุทิศแด่ศาสนา รังสรรค์ผลงานศิลปะ ทั้งจิตรกรรม และ ประติมากรรม ในโบสถ์ วิหาร และศาสนสถานมากมายในประเทศรัสเซียมีงานศิลปะรูปพระแม่มารี และพระเยซู โดยศิลปินเหล่านั้นไม่เคยจารึกนามบนชิ้นงานศิลปะเหล่านั้นเลย ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในยุโรป แต่ยังรวมถึงฟากฝั่งโลกตะวันออกของเราอีกด้วย เฉกเช่นผลงานพุทธศิลป์ในอดีตมากมายในประเทศของเรารวมถึงชมพูทวีป ก็ไม่ปรากฏว่ามีการจารึกนามของเจ้าของผลงานด้วยเช่นกัน ที่สำคัญกว่านั้น เด็กทุกคนซึ่งได้เกิดขึ้นในโลกนี้ การวาดภาพกลายเป็นธรรมชาติภายในที่ทำให้พวกเราตระหนักถึงข้อความข้างต้นเป็นอย่างดี ว่ากันที่จริงแล้ว ก็ละม้ายคล้ายกับจิตใจอันบริสุทธิ์ในการวาดภาพของเด็ก ซึ่งมีนัยยะความสัมพันธ์
ระหว่างดวงจิตของมนุษย์กับศิลปะ นั่นเอง
...จากศิลปะ สู่ ศิลปะบำบัด
ดังที่กล่าวมา มนุษยปรัชญา (Anthroposophy) มีรากฐานของความเข้าใจมนุษย์ทั้งสามส่วนหลัก คือ ความคิด (Thinking) ความรู้สึก (Feeling) และ เจตจำนง (Willing) องค์ประกอบทั้งสามนี้จะปฏิสัมพันธ์อย่างสมดุลย์ตามช่วงเวลาการเติบโต และหากบุคคลหนึ่งบุคคลใดเกิดภาวะเจ็บป่วย ทั้งโรคทางกายหรือโรคทางใจ ไม่ว่าจะเพศหรือวัยใด สามสิ่งข้างต้นก็จะสูญเสียความสมดุลย์ ซึ่งจะส่งผลต่อ ทางกาย (กระบวนการเผาผลาญร่างกาย) ทางใจ
(ระบบหมุนเวียนของโลหิตและการทำงานของหัวใจ) ทางความคิด (ระบบประสาท และการทำงานของสมอง)
การบำบัด (Therapy) โดยใช้คิลปะ จึงเป็นการกระทำจากภายนอกร่างกายเข้าไปหลอมรวมสู่ภายใน เพื่อสร้างสมดุลย์ หรือขจัดภาวะติดขัด การถูกกดภายใน ให้หลุดหรือคลายออก โดยผู้รับการบำบัดจะปฏิบัติโดยรับประสบการณ์
จากภายนอกเข้าไปไว้ในตัว แล้วเกิดการสร้างสรรค์จากภายใน เพื่อถ่ายทอดอีกครั้ง
ที่ได้กล่าวมา จะเห็นได้ว่า พื้นฐานความคิดนี้ แตกต่างจากความเข้าใจศิลปะบำบัดในกระแสหลักทั่ว ๆ ไปเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุว่า ศิลปะบำบัดแนวทางมนุษยปรัชญาให้ความสำคัญทั้งการรับความรู้สึก (Impress) และ แสดง
ความรู้สึก (Express) เหมือนกับจังหวะของลมหายใจเข้าและลมหายใจออก
...ศิลปะบำบัดบนพื้นฐานมนุษยปรัชญา
แน่นอนละว่า ศิลปะบำบัดแนวมนุษยปรัชญาย่อมนำศิลปะทั้งเจ็ดแขนงมาแยกย่อยเป็นศาสตร์บำบัดต่าง ๆ อันได้แก่ สถาปัตยกรรม การปั้นบำบัด (Clay Therapy) การวาดบำบัด (Painting Therapy) ดนตรีบำบัด (Music Therapy) อรรถบำบัด (Speech Therapy) ยูริธมีบำบัด (การเคลื่อนไหว – Eurythmy Therapy) และละครบำบัด (Drama Therapy) โดยมีศาสตร์รองรับในแต่ละแขนงว่ามีเหตุผลต่อการบำบัดในสภาวะต่างๆ ของผู้เสียสมดุลย์ ทั้งร่างกาย จิต และจิตวิญญาณ คำกล่าวหนึ่งที่น่าสนใจ กล่าวไว้ว่า ศิลปะ ก็เป็นดั่งยารักษาจิตใจ ดังนั้น นักศิลปะบำบัด ก็ควรตระหนักและไตร่ตรองต่อการให้ยาขนานนี้ ใช่ว่าเด็กทุกคนจะต้องวาดภาพ และใช่ว่าเด็กทุกคนต้องรับการปั้น Element ทางศิลปะ (เส้น สี รูปทรง พื้นที่ว่าง ฯลฯ) มีผลต่อการบำบัดทุกห้วงอณู ตัวอย่างเช่น ถ้านักบำบัดไม่รู้ว่าผู้เข้ารับการบำบัดรายนี้ไม่ควรระบายสีแดง (Crimson) อันเนื่องจากอิทธิพลของสีนี้ส่งผลและทำให้โรคภายในตัวของเขาเร่งเร้าขึ้น มีอาการสำแดงชัดขึ้น ยาขนานนี้ก็จะเป็นดาบอีกคมโดยไม่รู้ตัวกระบวนการที่แตกต่างของศิลปะบำบัด และ การศึกษาบำบัดในแนวทางมนุษยปรัชญาโดยปกติ ในกระบวนการบำบัด นักศิลปะบำบัด (Art Therapist) ทั้งเจ็ดแขนงจำต้องศึกษาประวัติผู้เข้ารับการบำบัดอย่างละเอียดจากแพทย์ ครอบครัว ครู (ในกรณีที่ผู้รับการบำบัดเป็นเด็ก) และขั้นตอนที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ให้เวลากับตนเองประมาณสามสัปดาห์ในการเฝ้าดูความเป็นไปของผู้รับการบำบัด เพื่อผลการวินิจฉัยการทำงานบำบัดของตนเอง ว่าจะ ‘เลือก’ สิ่งใดไป ‘บำบัด’ และ ‘เปลี่ยนแปลง’ ภายในของผู้รับการบำบัด โดยมีเหตุผลที่ชัดเจนต่อความเจ็บป่วยนั้น นั่นหมายถึงการบำบัดต้องมีเป้าหมายที่แจ่มชัดต่อทุกขั้นตอนในกระบวนการนั้น ตั้งแต่การเลือกสรร ใช้วัสดุอุปกรณ์ บทเรียนในการบำบัด นั่นจึงเรียกว่าการบำบัดที่สมบูรณ์ และนี่คือการงานของนักศิลปะบำบัดที่แท้จริงกล่าวในส่วนของประเทศไทย แม้จะมีการหยิบยกศิลปะบำบัดมาพูดถึงกันอยู่บ่อยครั้ง แต่ถ้าสังเกตและพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เราก็จะพบความทับซ้อนกับการศึกษาบำบัด (Curative Education) เป็นอย่างมาก การจัดการศึกษาบำบัดเกิดขึ้นมานานกว่าหกสิบปี โดยจัดการแก่เด็กที่มีความต้องการพิเศษ เพื่อให้พวกเขาได้รับการพัฒนาที่สูงขึ้น Blitz (1999) นักปรัชญาการศึกษาคนสำคัญกล่าวว่า แนวคิดการศึกษาบำบัด และ การศึกษาพิเศษ (Special need in Education) มีทั้งส่วนที่คล้าย และส่วนที่ต่างกัน กล่าวคือ ทั้งสองแนวคิดเป็นการทำงานเพื่อส่งเสริมพัฒนาการแก่เด็ก ที่มีความต้องการพิเศษ และมองที่ตัวเด็กเป็นสำคัญ แต่การศึกษาบำบัดนั้นมองเด็กต่างไปจากการศึกษาพิเศษ โดยเป็นการมองเด็กแบบองค์รวม (Holistic View) เน้นความสำคัญทั้ง ร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณดังนั้นเอง การจัดการศึกษาบำบัดนั้น จึงมุ่งเน้นจัดกิจกรรมที่ลึกซึ้ง บนสุนทรียภาพ เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและบริบทของสังคมนั้นๆ เน้นวัสดุจากธรรมชาติ เพื่อให้เป็นมิติของการบำบัดจริงๆ กิจกรรมมีลักษณะเป็นกลุ่ม และค่อนข้างหลากหลาย อาทิเช่น การวาดภาพ การร้อยเมล็ดพืช การระบายสีบนดินเผา รวมทั้งงานประดิษฐ์อื่น ๆ ไม่ได้เน้นความเป็นปัจเจกบุคคล หรือเฉพาะเจาะจงในกระบวนการวาด หรือกระบวนการปั้น สิ่งที่ได้กล่าวมามีรูปแบบอยู่ในประเทศตะวันตกอย่างชัดเจนว่า คือการศึกษาบำบัด นั่นเอง
...ศิลปะบำบัดในสังคมไทย
ปัจจุบัน สังคมไทยให้ความสำคัญกับศิลปะบำบัดมากขึ้น ซึ่งก็นับเป็นสัญญาณที่ดี ในปีหนึ่ง ๆ มีผู้เข้ารับการบำบัดตั้งแต่เด็กไปจนกระทั่งผู้ใหญ่เป็นจำนวนมาก แม้ความรู้ทางวิชาการจะยังอยู่ในวงจำกัด นักศิลปะบำบัด (Art Therapist) ที่ได้ร่ำเรียนและฝึกฝนทั้งทฤษฎีและปฏิบัติมาอย่างจริงจัง ก็ยังนับว่าน้อยมาก ซึ่งความรู้ที่ลึกซึ้งและเป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการ ยังจำเป็นมากต่อการบำบัด ดังนั้น ช่วงเวลานับจากนี้จะเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจไม่น้อยว่า ศิลปะบำบัดในประเทศไทยจะสามารถยกระดับองค์ความรู้และศักยภาพของเรา ให้เพียงพอที่จะรับมือกับความผันผวน
และการเปลี่ยนแปลงอันซับซ้อนของโลกทุกวันนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่
*********อ้างอิง
1. Eva Mees. Christeller, Inge Denzinger, Marianne Altmaiel, Heidi Künster. Anthroposophische Kunsttherapie 2. 2003 : 47 – 83.
2. Rudolf Steiner. 1973. Das Wesen der Farber. Germany : Rudolf Steiner verlag.
3. Rudolf Steiner. 1961. Das Kunstlerische in seiner Weltmission. Germany : Rudolf Steiner verlag.
4. Van James. 2001. Spirit and Art. America : Anthroposophic Press.
5. Olaf Koob. 18 มีนาคม 2551. ศิลปะบำบัดในมุมมองของแพทย์ ในงานปาฐกถา คุณรู้จักศิลปะบำบัดแค่ไหน มูลนิธิอนุบาลบ้านรัก.
6. ศศิลักษณ์ ขยันกิจ. 2548. การพัฒนากระบวนการให้การศึกษาสำหรับผู้ปกครองของเด็กปฐมวัยที่มีความต้องการพิเศษ โดยใช้แนวคิดการศึกษาบำบัดและเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง. วิทยานิพนธ์ ปริญญาดุษฎีบัณฑิต. ภาควิชาหลักสูตรการสอนและเทคโนโลยีการศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศิลป์-ศิลปะ โดย Nattinun Boonreang อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย.
อยู่บนพื้นฐานของงานที่ http://5107896-art.blogspot.com/2013/08/normal-0-false-false-false-en-us-ja-th.html.
การอนุญาตนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในสัญญาอนุญาตนี้ อาจมีอยู่ที่ http://5107896-art.blogspot.com/2013/08/normal-0-false-false-false-en-us-ja-th.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น